บอกลาค่าซ่อม Spindle ที่แสนแพง

สปินเดิล (Spindle) เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญที่สุดของเครื่องจักร CNC ส่งผลต่อคุณภาพของชิ้นงานและผลิตผลโดยตรง หากสามารถใช้งานสปินเดิลได้อย่างยาวนาน ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม สปินเดิลเป็นชิ้นส่วนที่เสียหายง่าย ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น เมื่อรวมกับความเร็วรอบเครื่องจักรที่สูงขึ้น ทำให้การซ่อมสปินเดิลแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ผ่านมา ความผิดพลาดในการโปรแกรมเพียงครั้งเดียวอาจหมายถึงการซ่อมแซมที่กินเวลาเป็นสัปดาห์และค่าใช้จ่ายราคาแพงได้

เพิ่มเติม ptsc.co.th

“หลีกเลี่ยงค่าซ่อมสปินเดิลราคาแพงอย่างไร? เพิ่มเวลาทำงานของเครื่องจักรใน 3 ขั้นตอน”  ซึ่งเผยแพร่โดย Better MRO เครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมและข้อมูลธุรกิจ MRO จากสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำไว้ดังนี้

1. บำรุงรักษาเชิงป้องกันเป็นประจำ

การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) คือการบำรุงรักษาระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร ซึ่งสำหรับสปินเดิลและเครื่อง CNC การบำรุงรักษาเชิงป้องกันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สปินเดิลมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น การตรวจเช็คส่วนต่าง ๆ เป็นประจำ เป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกับการที่เจ้าของรถต้องดูแลรถตัวเองให้มีสภาพดีอยู่เสมอ โดยมีวิธีการดังนี้

  • สำหรับเครื่องจักรที่มีระบบจ่ายน้ำหล่อเย็นผ่านสปินเดิล การตรวจสอบโอริง (O-ring) หรือซีลบริเวณท่อหล่อน้ำเย็น หรือ Tool Holder เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากสารหล่อเย็น
  • เปลี่ยนฟิลเตอร์เป็นประจำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและอุดตันจากเศษตัดและสารหล่อเย็น ตรวจเช็คว่าอากาศที่อัดเข้าสู่เครื่องสะอาดดีหรือไม่
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสารหล่อเย็นสะอาด และปิดระบบจ่ายน้ำหล่อเย็นทุกครั้งที่เปลี่ยนทูลส์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ทูลส์โฮลเดอร์ที่เสื่อมสภาพ เนื่องจากอาจเกิดความเสียหายต่อด้าม (Taper) และจะทำให้สปินเดิลเสียหายได้ในที่สุด
  • ยอมลงทุนใช้ทูลส์โฮลเดอร์ที่มีคุณภาพสูง และหลีกเลี่ยงผู้ให้บริการที่เสนอราคาต่ำที่สุด 
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการหล่อลื่นสปินเดิลอย่างเหมาะสม และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทำงานได้ดี เช่น ชิลเลอร์

2. ป้องกันการชนกระแทกของสปินเดิล

ความเสียหายของสปินเดิลส่วนใหญ่มักเกิดการการชนกระแทกกันระหว่างสปินเดิล ชิ้นงาน และชิ้นส่วนอื่น ๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการเขียนโปรแกรมที่ผิดพลาด หรือการติดตั้งทูลส์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมักนำไปสู่ค่าซ่อมราคาแพง แต่เบื้องต้นสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • ติดตั้งทูลส์ตามคำแนะนำของผู้ผลิตเครื่องจักร และใช้คำสั่ง Safe Start Position ของโปรแกรม เพื่อป้องกันให้ทูลส์ไม่อยู่ผิดตำแหน่งหลังเปลี่ยนทูลส์ รวมถึงการตรวจวัดชิ้นงานระหว่างกระบวนการผลิต
  • พิจารณาการลงทุนในซอฟต์แวร์จำลอง Tool Path หรือใช้เวลาตรวจสอบการโปรแกรมเมื่อมีการผลิตชิ้นส่วนใหม่อย่างถี่ถ้วน
  • การกระทบกระทั่งของชิ้นส่วนอาจทำให้สปินเดิลเสียหายได้ แต่ควรเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการชนกระแทกที่รุนแรงเท่านั้น แต่การกระแทกเบา ๆ ก็อาจทำให้พื้นผิว Bearing เสียหาย ทำให้สปินเดิลมีอายุการใช้งานสั้นลง

3. ติดตั้งทูลส์ให้สมดุล

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สปินเดิลเสียหายได้คือการติดตั้งทูลส์ที่ไม่สมดุล ซึ่งการติดตั้งทูลส์สมดุลจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มอายุการใช้งานสปินเดิลได้ โดยสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ยอมลงทุนซื้อเครื่องบาลานซ์ทูลส์ (Tools Balancer) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการซ่อมแซมสปินเดิล ทำให้เกิดดาวน์ไทม์ของเครื่องจักรเป็นเวลานาน 
  • ติดตั้งอุปกรณ์จับยึด คัทติ้งทูลส์ และ Retention knob ให้สมดุล โดยเฉพาะในเครื่องจักรที่มีรอบหมุน 8,000 rpm ขึ้นไป
  • ไม่ใช้ทูลส์ที่ยาวเกินไป เนื่องจากแรงหมุนอาจทำให้เพลาของสปินเดิลงอจนเกิดผลกระทบต่อชิ้นส่วนอื่น ๆ

สรุปบทความ

หากสามารถใช้งานสปินเดิลได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะทำให้สปินเดิลมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นแล้ว ยังหมายถึงการลดดาว์นไทม์ (Downtime) ของเครื่องจักรที่ต้องใช้ในการซ่อมแซม ลดค่าบำรุงรักษา และยังช่วยเพิ่มคุณภาพชิ้นงานได้อีกด้วย 

สอบถามเพิ่มเติมที่

บริษัท เพรสซิชั่น ทูลลิ่ง เซอร์วิส จำกัด
Tel. 02-3704900 auto 10 lines
Email : info@ptsc.co.th